ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ และแก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน ส่วนที่ ๓ อำนาจหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล มาตรา ๖๖ องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาตรา ๖๗ (๗) องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่คุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ มาตรา ๖๘ (๗) องค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดกิจการบำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร นอกจากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบล อาจทำกิจการนอกเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหรือร่วมกับหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น หรือราชการอื่น เพื่อกระทำกิจการร่วมกันได้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ในภาวะปัจจุบันกระแสความตื่นตัวด้านเกษตรอินทรีย์ได้แพร่หลาย และกระจายอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเห็นพิษภัยของสารเคมีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ใช้ในด้านการเกษตร หรือสารเคมีที่ใช้ภายในครัวเรือน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสารเคมีประเภทใด ก็ตามล้วนส่งผลกระทบต่อดิน แหล่งน้ำ และสภาพแวดล้อมในองค์รวมทั้งสิ้น นอกจากนี้อาจเกิดพิษภัยหรืออันตรายต่อชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งมวลอีกด้วย ประกอบกับในปัจจุบัน มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางดิน โดยไม่คำนึงถึงผลได้ผลเสียที่จะตามมาในภายหลัง นโยบายรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญในการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าเกษตร เช่น การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล และตรงกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมให้เกษตรกรมีการ แปรรูปสินค้าเกษตรในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ การส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด ตลอดจนถึงการใช้กลไกการตลาดดูแล สินค้าเกษตรพร้อมทั้งแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการแข่งขัน นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในอาชีพ ความเป็นอยู่ และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่กำหนดให้ส่งเสริมการพัฒนาภาคการเกษตรในรูปแบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้มาพัฒนาการทำการเกษตร เพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีคุณภาพปลอดภัย ได้มาตรฐาน ตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญ กับคุณภาพของสินค้า เพื่อต้องการยกระดับการทำการเกษตรเพื่อให้มีการงดการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีในทุกกระบวนการ และอื่น ๆ รวม 8 ประการที่เกษตรกรผู้ผลิต สามารถควบคุมได้ด้วยตนเอง แต่ยังไม่ถึงขั้นเกษตรอินทรีย์เนื่องจากยังมีปัจจัยนอกเหนือการควบคุมต่าง ๆ ที่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์กำหนดขึ้น แต่เกษตรกรยังไม่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อให้การผลิตสินค้าเกษตรมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างแท้จริง และตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพปลอดภัยได้มาตรฐาน และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตร ช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่ด้อยคุณภาพล้นตลาดและมี ราคาตกต่ำ และจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมต่อไป
ปัจจุบันความต้องการ การบริโภคสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน มีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศที่มีกำลังชื้อสูง ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัยมากขึ้น กระแสการเอาใจใส่ต่อสุขอนามัย การให้ความสำคัญต่อการบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย สภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชากรโลกที่ดีขึ้น เป็นสิ่งช่วยกระตุ้นให้ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยมีคุณภาพ และได้มาตรฐานเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ข้อจำกัดในขณะนี้ คือ การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล ทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ยังมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งชนิดและปริมาณ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังมีการผลิตสินค้าเกษตรที่ด้อยคุณภาพ มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการปฏิบัติต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานจนเกิดเป็นความเคยชิน ติดยึดในความสะดวก สบาย ดังนั้น การดำเนินโครงการพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยสูง จึงมุ่งที่จะให้
เกษตรกรขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน ผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานเพื่อตอบสนองผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ลดปัญหาความเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากสารเคมีในสินค้าเกษตร แก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่ด้อยคุณภาพและราคาตกต่ำ และเชื่อว่าสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล ตลอดจนถึงการใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้ และการแสวงหาแนวทางการลดต้นทุนในการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าด้วยกระบวนการต่าง ๆ จะทำให้ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น มีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน